นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบ (ร่าง) แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 – 2570 ซึ่งแผนดังกล่าวจะอยู่ภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงานหลัก เช่น กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นต้น โดยจะเป็นการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเด็กปฐมวัยของประเทศให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และมีความเชื่อมโยงกับทุกกระทรวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในลักษณะของการบูรณาการ เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานสำหรับหน่วยงานทุกระดับไม่ว่าจะเป็นระดับนโยบายไปจนถึงระดับปฎิบัติงาน พร้อมกับลดความซ้ำซ้อน
ซึ่งที่สำคัญจะสนองต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 54 ที่กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลา 12 ปีตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพ รัฐต้องดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษา เพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญหาให้สมกับวัย โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย
ทั้งนี้เมื่อ ครม.ได้เห็นชอบร่างแผนดังกล่าวอย่างเป็นทางการแล้ว ตนได้มอบหมายสภาการศึกษา (สกศ.) เป็นเจ้าภาพในการจัดทำแนวทางการพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อนำไปสู่การปฎิบัติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ซึ่งการพัฒนาเด็กปฐมวัยมีความสำคัญอย่างมาก โดยส่วนตัวมองว่าหลักการเรียนวิทยาศาสตร์ควรนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วย เพราะจะสร้างทักษะให้เด็กคิดเป็นทำเป็นเรียนรู้เป็นแก้ไขปัญหาเป็น และปรับตัวในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข หรือที่เรียกว่าทักษะ Executive Functions (EF) เนื่องจากการเรียนของเด็กในช่วงวัยนี้จะเป็นช่วงพีคที่สุดในการสร้างจินตนาการ ซึ่งหากเราไปตีกรอบการเรียนรู้ของเด็กอาจทำให้อิสระทางความคิดอย่างสรรค์ของเด็กหายไป ดังนั้นกระบวนการพัฒนาเด็กปฐมวัยหากนำเรื่องวิทยาศาสตร์เข้ามาจับจะช่วยสร้างกระบวนการเรียนรู้ของเด็กได้